กรมชลประทาน จับมือกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร แห่งประเทศญี่ปุ่น (MIC) ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่สักชลสิทธิ์ด้วยระบบเรดาร์ Solid -State Polarimetric X-band ความละเอียดสูง จัดเก็บข้อมูลฝน ประเมินปริมาณน้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่แม่นยำ ป้องกันภัยพิบัติอันเกิดจากน้ำ เสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในอนาคต ในพื้นที่ตำบลพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานฝ่ายไทย เปิดสถานีเรดาร์ฯ ร่วมกับนายโทโยชิมะ โม่โตโนบุ (Mr.Toyoshima Motonobu) อธิบดีกรมการวิทยุ กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประธานฝ่ายญี่ปุ่น และมีอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้แทนคณะกรรมการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รอง ผวจ.ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้มีเกียรติทั้งในส่วนฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นร่วมพิธีเปิด หลังพิธีเปิดการใช้งานสถานีเรดาร์แล้ว ได้ถ่ายภาพร่วมกัน และเยี่ยมชมอาคาร และเครื่องมือการดำเนินการ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOC) ร่วมกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร แห่งประเทศญี่ปุ่น (MIC) ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ด้วยระบบเรดาร์ Solid - State Polarimetric X -band เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ ในการป้องกันภัยพิบัติ ตามมติที่ประชุมระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร แห่งประเทศญี่ปุ่น (MIC) สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย บริษัท Japan Radio Co.,Ltd (JRC) และบริษัท Nippon Koei Co.,Ltd.
สำหรับระบบเรดาร์ Solid - State Polarimetric X-band เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยติดตั้งเป็นแห่งแรกของกรมชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก บริเวณสถานีสำรวจทางอุทกวิทยา S.42 อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากลุ่มน้ำป่าสักมักจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ จากสภาพทางภูมิประเทศที่ลาดชัน ซึ่งสถานีเรดาร์ดังกล่าว จะทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ได้แบบ near real time สามารถคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำป่าสักไปจนถึงท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยระบบเรดาร์นี้ จะวัดข้อมูลฝนเชิงพื้นที่ ที่มีความละเอียดสูงพร้อมระบบการจัดเก็บข้อมูลประมวลผลเรดาร์ผ่าน J-BIRDS Software ที่จะแสดงข้อมูลปริมาณฝนสะสม ความเข้มของฝนรวมทั้งการเคลื่อนที่ของลมหรือพายุ ก่อนจะถูกนำไปประมวลผลด้วยแบบจำลองอุทกพลศาสตร์ (Hydro-dynam ic Model) ที่ติดตั้งอยู่ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ร่วมกับข้อมูลอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลตรวจวัดระดับน้ำ และปริมาณน้ำท่าจากระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม นำไปสู่การคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ (reservoir inflow forecasting system) และระบบสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ (Dam Operation Support System) ทำให้สามารถประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนป่าสักฯ สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบให้ทราบล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที่ ช่วยบรรเทาและลดความเสียหายที่จะเจิดขึ้นจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักได้เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะนำระบบการบริหารจัดการน้ำด้วยเรดาร์ตรวจอากาศดังกล่าว มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบโทรมาตรที่มีอยู่เดิม รวมทั้งจะนำไปใช้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทานทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อไปในอนาคต
ติดตามคลิปประกอบข่าวได้ที่เว็บลิงค์ https://www.facebook.com/groups/508338716343704/permalink/1632770583900506/?mibextid=Nif5oz
ติดตามการถ่ายทอดสดย้อนหลังได้ที่เว็บลิงค์ https://fb.watch/lcJeuAfrWg/
ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่งได้ที่เว็บไซต์เฟสบุ้ค เว็บลิงค์ https://www.facebook.com/groups/508338716343704/permalink/1632726863904878/?mibextid=Nif5oz