Friday, November 17, 2023

สหพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด จัดประชุมครั้งที่ 4/2566 โดยมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาที่น่าติดตามหลายเรื่อง

 



สหพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด จัดประชุมครั้งที่ 4/2566 โดยมีเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาที่น่าติดตามหลายเรื่อง

          เมื่อวันอังคารที่ 14  พฤศจิกายน 2566 เวลา  13.00 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนบ้านกง (ราษฎร์อุทิศ) อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย สหพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัดได้จัดประชุมกรรมการและสมาชิก โดยมีเรื่องสำคัญที่น่าติดตามหลายเรื่อง การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งที่ 4/2566 ณ จังหวัด สุโขทัย หลังจากที่มีการจัดประชุม ครั้งที่ 3/2566 ณ จังหวัดพะเยา มาก่อนหน้านี้แล้ว


          ก่อนการประชุมได้มีการกล่าวต้อนรับผู้มาร่วมการประชุมจาก 16 จังหวัดภาคเหนือ จากนั้นเข้าสู่พิธีการ โดยได้เรียนเชิญ นายถวิล น้อยเขียว อดีตผู้แทนครูในคณะกรรมการ ตลอดทั้งคณะอนุกรรมการอีกหลายคณะ เป็นประธานจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และบรรยายพิเศษ  

          จากนั้น  ดร.ทนง ทศไกร  ประธานสมาพันธ์ข้าราชการบำนาญ  16 จังหวัด ภาคเหนือ ได้เป็นประธานการประชุม และได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระที่เกี่ยวข้อง จนเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 16.00 น. ในโอกาสนี้นายประดิษฐ์ บุญยอด นายกสมาคมข้าราชการบำนาญเพชรบูรณ์​ ได้นำคณะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย จำนวนทั้งสิ้น 4 ท่าน ได้แก่ นายวันชัย ศรีเหนี่ยง เลขานุการสมาคมข้าราชการบำนาญฯ  นายทวีศักดิ์ ​มีประจำ กรรมการ  และนายเรือน สิงห์โสภา  กรรมการ


           สำหรับเรื่องที่นำเข้าที่ประชุมประกอบด้วยเรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ จำนวน 2​ เรื่อง คือ ขอขอบคุณกรรมการและสมาชิกที่ได้เข้าร่วมการประชุม​ และการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามมติที่ประชุมสำคัญ 4  เรื่อง ที่เป็นปัญหาของข้าราชการบำนาญ โดยได้มอบเอกสารให้แก่พรรคการเมืองต่างๆ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา

            จากนั้นเป็นการรับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566​ ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุมนี้

           


            ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเสนอเพื่อทราบ ได้แก่เรื่องที่ 1 รายงานรับจ่ายเงินสหพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด เรื่องที่ 2 การกลุ่มจังหวัดของสมาพันธ์​ข้าราชการบำนาญ 16 จังหวัด โดยมีการแบ่งกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน   กลุ่มที่  2  เชียงราย พะเยา น่าน และแพร่   กลุ่มที่ 3 พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย และตาก    และกลุ่มที่ 4 นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์

              และเรื่องที่ 3  ปัญหาของข้าราชการบำนาญ เรื่องขอตกเบิกเงิน ชคบ.ย้อนหลังให้กับข้าราชการบำนาญผู้ที่ลาออกจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. เนื่องจาก สมาชิกบางท่านยังได้สิทธิ์ไม่ครบถ้วน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลตกเบิกเงิน ชคบ.ที่เหลือให้กับข้าราชการบำนาญทุกคนที่มีสิทธิ์ และที่ลาออกจาก กบข.มารับบำนาญแบบ ปี 2494 เหมือนกับที่ได้ตกเบิกเงินบำนาญย้อนไปถึงวันเกษียณอายุราชการ ฝากถึงรัฐบาลได้ดำเนินให้ด้วย


           ทั้งนี้ ส่วนเรื่องที่ 4  ข้าราชการบำนาญขอให้รัฐบาลปรับ เงิน ชคบ.ให้สมาชิกบำนาญ เพราะไม่ได้ปรับเงินมาเป็นเวลานาน ครั้งสุดท้าย ปรับเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่เรียกร้องให้ปรับเงิน ชคบ.ด้วย เหตุผลคือ ไม่ได้ปรับมานานแล้ว และด้วยอัตราเงินเฟ้อ  รวมทั้งค่าของเงินต่ำมาก ค่าของเงินลดลง ของก็แพง ของขึ้นราคา น้ำมันแพง ทองแพง แต่ข้าราชการบำนาญได้รับเงินบำนาญเท่าเดิม การขอปรับเงิน ชคบ. หากข้าราชการบำนาญจะได้รับ รัฐบาลต้องปรับเงินเดือนข้าราชการก่อน ดังนั้นจึงเรียกร้อง ให้รัฐบาลปรับเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบด่วน

            เรื่องที่ 5 ขอให้แก้ไข พรบ.ผู้สูงอายุ โดยมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ (ฉบับที่... พ.ศ......)​  ตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 48 วรรค 2 "บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ" เหตุผลคือสิทธิในการรับสวัสดิการ จึงควรรวมถึงบุคคลที่มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่เป็นข้าราชการบำนาญทุกประเภท ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ที่มีสัญชาติไทยให้มีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของการเป็นประชาชนชาวไทย จึงสมควรแก้ไขหลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้แก่บุคคลที่เป็นประชาชนชาวไทย ซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ให้มีความเสมอภาคอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และเป็นธรรมจากรัฐ จึงจำเป็นต้องผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัตินี้ให้รัฐบาลเพิ่มเติม ใน พรบ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546


           สำหรับเรื่องที่ 6 ขอให้รัฐบาลปรับแก้ไขการคำนวณสูตรการคิดคำนวณบำเหน็จบำนาญ โดยขอปรับการคิดคำนวณบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 3 ฉบับ โดยกฎหมายทั้งสามฉบับ มีสูตรการคิดคำนวณ เดิม หารด้วย 50 ขอแก้ไขใหม่ เป็น หารด้วย 30 (เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ตามมติของสภาผู้แทนราษฎรฯ)



           ส่วนเรื่องที่ 7 ขอให้รัฐบาลเพิ่มเงินรายหัวนักเรียน (เดิม ปฐมวัย หัวละ 1,700 บาท ประถมศึกษา หัวละ 1,800 บาท  มัธยมศึกษาตอนต้น หัวละ 3,500 บาท มัธยมศึกษา​ตอนปลาย หัวละ 3,800 บาท สำหรับเงินที่รับอยู่ในปัจจุบันนี้หากเป็น โรงเรียน ขนาดเล็ก เงินรายหัวที่ได้นำไปจ่ายเป็นค่าสาธารณูปโภคเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ก็หมดแล้วบางโรงเรียนไม่พอด้วยซ้ำ ทำให้เงินที่จะนำมาพัฒนาไม่เพียงพอ จึงให้รัฐบาลปรับเพิ่มเงินรายหัวให้นักเรียนทุกระดับ  ระดับละอย่างน้อย 700 บาท และจัดสรรงบพัฒนาให้โรงเรียนเป็นกรณีต่างไปจากรายหัวเดิม ให้ตามแบบขนาดโรงเรียน ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ

            เรื่องที่ 8  ขอให้รัฐบาลจัดสรรเจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียน ให้มีครบทุกโรงเรียน ให้เป็นไปตามนโยบายของโครงการชื่อ โครงการคืนครูให้นักเรียน เพราะครูธุรการทำหน้าที่งานธุรการเองทั้งหมด ครูก็จะมีหน้าที่สอนอย่างเดียว ทำให้ครูมีเวลาดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่ และอย่าให้มีธุรการสองมาตรฐาน คือ ธุรการรับค่าตอบแทน 15,000 บาท และธุรการรับค่าตอบแทน 9,000 บาท ให้มีการรับค่าตอบแทนเท่ากัน คือ ปริญญาตรี 15,000 บาท ทุกคน รวมทั้งขอให้รัฐดำเนินการให้ธุรการได้มีความมั่นคงในอาชีพจะได้ไม่ต้องลาออกไปรับงานอื่น โดยให้มีการประเมินผลงานปรับให้เป็นพนักงานราชการด้วย

            เรื่องที่ 9 ขอให้รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จัดสรรภารโรงให้มีครบทุกโรงเรียน เพราะงานภารโรงเป็นงานหน้าตาที่ต้องดูแลความสะอาดอาคารห้องน้ำห้องส้วม บริเวณ ให้เกิด เรียบร้อยสวยงาม เป็นเวรยามรักษาความปลอดภัย ปิดประตูหน้าต่างอาคาร ปัจจุบันโรงเรียนที่ไม่มีภารโรง ผอ.โรงเรียน ครู และนักเรียนแบ่งเวลากันมาทำหน้าที่ภารโรงและขอให้รัฐบาลจัดให้ภารโรงมีสวัสดิการที่ดี รวมทั้งขณะนี้ลูกจ้างประจำที่มีอยู่แล้วเวลาเกษียณไม่ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเหมือนเดิม เพราะไปตัดสวัสดิการของเขาจึงเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาให้โรงเรียนด้วย



            เรื่องที่ 10 ให้รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นประธานกรรมการครุสภาโดยตำแหน่งได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ และมีสั่งการให้คุรุสภา ได้ปรับวิธีการขอรับหรือขอมีใบอนุญาตประกอบวิชีพครู ได้โดยอัตโนมัติ หลังจากผ่านการเรียนเข้ม การฝึกอบรมอย่างเข้ม และผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู โดยไม่ต้องมีการสอบขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอีก ปีนี้มีการสมัครเพื่อลงทะเบียนขอสอบรับใบประกอบวิชาชีพสองครั้ง แต่ละครั้งมีการรับจำนวนจำกัด มีเวลารับที่พร้อมจะหมดเวลา นักศึกษาสมัครไม่ทันหลายคนจึงทำให้ไม่มีสิทธิ์สอบทั้ง ๆ ศึกษาอบรมมาตามหลักสูตรครบ จะสมัครก็ไม่ทันหมดเวลา ให้เวลาน้อย สมัครทันก็จายค่าสมัครไม่ได้จึงทำให้เสียเวลา

            เรื่องที่ 11 ให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)​หาวิธีการเพิ่มข้าราชการใน สกร.ระดับอำเภอและระดับจังหวัด ให้มีจำนวนมากกว่านี้ เพราะข้าราชการจริง ๆ โตไม่ทันที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารระดับอำเภอ บางจังหวัดมี ผอ.อำเภอไม่ถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะข้าราชการที่มีสิทธิ์สอบมีน้อย ข้าราชการส่วนใหญ่ก็เป็นครู คศ.1 ไม่มีสิทธิสอบ และขอให้หาวิธีการปรับปรุงตำแหน่งพนักงานราชการใน สกร.อำเภอ จังหวัด เป็นข้าราชการโดยการประเมินจะได้มีข้าราชการเพียงพอ และทันกับความก้าวหน้าเติบโตในตำแหน่ง


           เรื่องที่ 12 ให้รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คืนตำแหน่งครูที่เกษียณโดยเร็วหลังจากเกษียณแล้ว ใช้เวลานานมาก หรือเป็นปี เป็นหลายถึงจะได้รับตำแหน่งคืน เพราะเนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนครูถึงเวลาครูในโรงเรียนเกษียณตามอายุราชการ แต่ยังไม่ได้รับตำแหน่งคืนทันทีผลเสียหายตกอยู่ที่นักเรียนเป็นการทำบาปให้นักเรียนมาก

            เรื่องที่ 13  เรื่องจากศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ข้าราชการบำนาญ โดยนายสรศักดิ์ อ้วนล้วน ได้นำเสนอความก้าวหน้าในการดำเนินการ

            เรื่องที่ 14  เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยนายประชัน จันระวังยศ ได้เสนอความคืบหน้าให้ที่ประชุมทราบ

           สำหรับระเบียบวาระที่ 4  เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา  ได้แก่ เรื่องที่ 1 การติดตามเรื่องให้รัฐบาลแก้ปัญหาของสหพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ ที่ประชุมเห็นชอบในการนำเสนอและมอบหมายบุคคลเป็นคณะกรรมการ​ไปดำเนินการ  และเรื่องที่ 2 การจัดกิจกรรมหาทุนเข้าสมาพันธ์​ฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสมาพันธ์​ฯ ที่ประชุมเห็นควรชอบในการจัดทำเสื้อที่ระลึกของสมาพันธ์​ฯ จำหน่ายให้แก่สมาชิก โดยจะมีการประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

            ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องอื่น ๆ ได้มีการพิจารณาถึงสถานที่ที่จะจัดการประชุมในครั้งถัดไป  ที่ประชุมมีมติจัดขึ้นที่จังหวัดพิจิตร

            ติดตามประมวลภาพส่วนหนึ่งได้ที่เว็บ​ลิงค์​ https://shorturl.asia/T3azX


สนั่นเขาค้อเพชรบูรณ์ 23-24 พ.ย.67 งานHighland festival พบกับดีเจระดับโลกยกพลบุกเขาค้อ

  สนั่นเขาค้อเพชรบูรณ์  23-24 พ.ย.67 งานHighland festival พบกับดีเจระดับโลกยกพลบุกเขาค้อ เพชรบูรณ์-วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ที่ร้าน Rewind 9...

บทความ