จังหวัดเพชรบูรณ์ขอเชิญชมและให้กำลังใจผู้เข้าประกวดธิดามะขามหวานและรถมะขามหวาน ประจำปี 2567
นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ได้กำหนดให้มีการจัดงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 27 มกราคม ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ขณะนี้มีความพร้อมในการจัดงานในปีนี้เป็นอย่างดียิ่ง
ผวจ.กล่าวว่า สำหรับในวันแรก วันที่ 27 มกราคม 2567 นั้น มีกิจกรรมที่อยู่ในความสนใจของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ได้แก่ กิจกรรมการประกวดธิดามะขามหวานและการประกวดรถมะขามหวาน โดยในช่วงเช้าจะมีการประกวดธิดามะขามหวาน ณ หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ และในช่วงบ่ายจะเป็นการประกวดรถมะขามหวาน โดยผู้เข้าประกวดธิดามะขามหวานจะนั่งประจำรถมะขามหวานในแต่ละคัน เข้าเป็นรูปขบวนแห่ โดยเริ่มจากจุดเริ่มต้นในตัวเมือง แล้วแห่รอบตัวเมืองไปถึงบริเวณสถานที่จัดงาน ณ บริเวณหน้าเวทีกลาง ของงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามีริ้วขบวนที่สวยงาม น่าชื่นชม โดยการประกวดธิดามะขามหวานและรถมะขามหวานได้รับความร่วมมือด้วยดีจากคณะผู้บริหารอำเภอต่างๆ พร้อมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในขบวนแห่
ผวจ.เพชรบูรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในปีนี้ก็เช่นเดียวกันมีการวางแผนในการประกวดธิดามะขามหวานและการประกวดรถมะขามหวาน โดยใช้แนวทางในการดำเนินการคล้ายคลึงกับปีที่แล้ว แต่มีการปรับหลักเกณฑ์การให้คะแนนที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นการพัฒนาการดำเนินการให้มีมาตรฐานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้มีการประกาศหลักเกณฑ์พร้อมเงินรางวัลสำหรับผู้เข้าประกวดและผู้ชนะการประกวด ตามประกาศจังหวัดเพชรบูรณ์ลงวันที่ 3 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
อนึ่ง หลักเกณฑ์ในการประกวดธิดามะขามหวาน ประจำปี 2567 ผู้เข้าประกวดต้องเป็นเพศหญิง มีสถานะโสด มีอายุระหว่าง 17-25 ปีบริบูรณ์ และเกิดในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในวันประกวดจะต้องแต่งกายชุดไทยเรือนต้น ใช้ผ้าพื้นถิ่นเพชรบูรณ์ โดยมีเกณฑ์การตัดสินในเรื่องของการแต่งกาย ใบหน้า/ทรงผม รูปร่าง/สัดส่วน การสัมภาษณ์ และบุคลิกภาพ/การแสดงออก รวม 100 คะแนน
สำหรับหลักเกณฑ์การประกวดรถมะขามหวาน กำหนดให้ขนาดของรถและส่วนควบกว้างไม่เกิน 3 เมตร ยาวไม่เกิน 6 เมตร สูงไม่เกิน 4 เมตร ประดับตกแต่งด้วยวัสดุที่กำหนด คือ ไม้ดอก/ไม้ประดับ วัสดุส่วนของมะขามหวาน อันได้แก่ เมล็ด ใบ ต้น หรืออื่นๆ อย่างใดหรือหลายอย่างก็ได้ เป็นส่วนประกอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 วัสดุอื่นๆที่เหมาะสม ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละหน่วยงาน หรือของพื้นที่แต่ละอำเภอ ส่วนการแสดงประจำขบวนรถมะขาม ไม่เกิน 7 นาที โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน ในด้านต่างๆ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ ความสวยงามของรถ ความสวยงามของรูปขบวน ความประณีตในการตกแต่ง และวัสดุที่ใช้ในการตกแต่ง คะแนนรวม 100 คะแนน
การประกวดธิดามะขามหวานและรถมะขามหวาน มีรางวัลดังนี้ ชนะเลิศธิดามะขามหวาน ได้รับรางวัลเงินสด 15,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและสายสะพาย รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับรางวัลเงินสด 10,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและสายสะพาย รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับรางวัลเงินสด 5,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและสายสะพาย รางวัลชมเชยรางวัลละ 2,000 บาท
รางวัลชนะเลิศการประกวดรถมะขามหวาน ได้รับเงินสด 20,000 บาทพร้อมโล่รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้เงินสด 15,000 บาทพร้อมโล่รางวัล รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้เงินสด 10,000 บาทพร้อมโล่รางวัล รางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประกวดรถมะขามหวาน ในปีนี้ จะมีความเข้มข้นมากกว่าเดิม โดยรถมะขามจากอำเภอหล่มเก่าและอำเภอหล่มสัก มีคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากรถมะขามจากอำเภออื่น ได้ศึกษาหลักเกณฑ์จากประกาศจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอย่างดียิ่ง และหวังจะคว้ารางวัลชนะเลิศ หรือรองชนะเลิศ เช่นเดียวกัน
เก็บมาฝากย้อนรอยบรรยากาศการประกวดธิดามะขามหวาน งานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ปี 2566 เว็บลิงค์