สหพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด จัดประชุมครั้งที่ 1/2567 เตรียมขับเคลื่อนเพิ่มสวัสดิการบำนาญผ่าน รมช.การคลัง รมว.การคลังและนายกรัฐมนตรี ตลอดทั้งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
เมื่อวันอังคารที่ 6 มีนาคม เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม CK HALL ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าจังหวัดพิจิตร อ.เมือง จ.พิจิตร ดร.ทนง ทศไกร ประธานสหพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด เป็นประธานการประชุมผู้แทนข้าราชการบำนาญจาก 16 จังหวัด แจ้งข่าวความไหวในการขับเคลื่อนสวัสดิการบำนาญ เตรียมติดตามเรื่องที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี พร้อมกับประสานหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
การประชุมดังกล่าว เริ่มด้วยการขอบคุณคณะกรรมการสหพันธ์ และสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม ขอบคุณสมาชิกบำนาญจังหวัดพิจิตร และเจ้าภาพจัดการประชุม และเพื่อติดตามเรื่องสำคัญที่เป็นปัญหาของข้าราชการบำนาญซึ่งได้มอบเรื่องให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ที่รัฐสภา ไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องรับรองรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว ที่ประชุมมีมติรับรอง จากนั้นเป็นระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเสนอเพื่อทราบ จำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1 รายงานรับจ่ายเงินสหพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด เรื่องที่ 2 กลุ่มจังหวัด ของ สบน. 16 จังหวัด ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน กลุ่มที่ 2 เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ กลุ่มที่ 3 พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และกลุ่มที่ 4 นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์
ส่วนเรื่องที่ 3 ปัญหาของข้าราชการบำนาญ เรื่องขอตกเบิกเงิน ชคบ. ย้อนหลังให้กับข้าราชการบำนาญผู้ที่ลาออกจาก กบข. เนื่องจากสมาชิกบำนาญที่ลาออกจาก กบข.กลับมารับบำนาญ แบบ ปี 2497 จะได้รับเงินบำนาญเพิ่ม ย้อนไปถึงวันเกษียณ และได้ 4 % สุดท้ายคำนวณบำนาญใหม่ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ด้วย และมีตกเบิกบำนาญย้อนหลังให้อีก แต่เงิน ชคบ.อีก 17 % ของเงิน ชคบ.ที่เพิ่ม รัฐไม่ตกเบิกเงิน ชคบ.ให้ ทั้งที่เงินบำนาญที่เพิ่มให้ได้รับย้อนไปให้ถึงวันเกษียณ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลตกเบิกเงิน ชคบ ที่เหลือให้กับข้าราชการบำนาญทุกคนที่มีสิทธิ์
สำหรับเรื่องที่ 4 ข้าราชการบำนาญขอให้รัฐบาลปรับ เงิน ชคบ. ให้สมาชิกบำนาญ เพราะไม่ได้ปรับเงินมาเป็นเวลานาน ครั้งสุดท้าย ปรับเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่เรียกร้องให้ปรับเงิน ชคบ.ด้วยเหตุผลคือไม่ได้ปรับมา 9 ปีแล้ว ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทำให้ของแพง ค่าครองชีพสูงอีกด้วย
เรื่องที่ 5 การยื่นเรื่องขอแก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ เรื่องที่ 6 การขอให้รัฐบาลปรับแก้ไขการคำนวณสูตรการคิดคำนวณบำเหน็จบำนาญ ตามพระราชบัญญัติเดิมทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งมีการคิดสูตรคำนวณบำเหน็จบำนาญหารด้วย 50 โดยขอให้เปลี่ยนเป็นหารด้วย 30 จะทำให้บำนาญได้รับสูงขึ้น
เรื่องที่ 7 เรื่องจากศูนย์สิทธิข้าราชการบำนาญที่นายสรศักดิ์ อ้วนล้วน และคณะ ได้ยื่นเรื่องขอเพิ่ม ชคบ.อีกร้อยละ 7 ต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยอีกส่วนหนึ่ง ณ รัฐสภา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และ เรื่องที่ 8 เรื่องความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยนายประชัน จันทวังยศ ซึ่งมอบหมายให้นายอนันต์ เกตุสุภะ เป็นผู้ชี้แจงแทน โดยในภาพรวมพบว่ามีความก้าวหน้าในระดับหนึ่งแล้ว จะต้องมีการขับเคลื่อนให้มากยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับเรื่องเสนอเพื่อพิจารณามี 1 เรื่อง คือ การติดตามเรื่องที่ยื่นให้รัฐบาลแก้ปัญหาของข้าราชการบำนาญ โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ นายถวิล น้อยเขียว นายบุญเสริม สิงห์ทอง และอีกหลายๆ ท่าน ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้ขับเคลื่อน 3 แนวทาง คือ ติดตามเรื่องโดยการเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่บ้านพัก ณ จังหวัดเชียงใหม่ เข้าพบและยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรีในโอกาสตรวจราชการที่จังหวัดพะเยา และเข้าพบกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ข้อมูลและขอรับความช่วยเหลือโดยตรง โดยจะได้นัดหมายกันในลำดับต่อไป
ก่อนเลิกประชุมได้มีการหารือในการกำหนดสถานที่ประชุมในคราวต่อไป ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่รับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม
อนึ่ง นายประดิษฐ์ บุญยอด คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ข้าราชการบำนาญภาคเหนือ 16 จังหวัด และทำหน้าที่นายกสมาคมข้าราชการบำนาญเพชรบูรณ์ อีกตำแหน่งหนึ่ง ได้นำคณะข้าราชการบำนาญไปร่วมการประชุมหลายท่าน ได้แก่
นายบุญเสริม สิงห์ทอง นายวินัย จันทร์ลา นางลำเภา ศรีนวลชาติกุล นายวันชัย ศรีเหนี่ยง นายเรือน สิงห์โสภา นายทวีศักดิ์ มีประจำ และนายวรวิทย์ โคตรสมบัติ